Monday, December 9, 2013

Frozen: เจ้าหญิงแช่แข็ง"กึ่ง"สำเร็จรูปกับการค้นหาที่ยืนในสังคม (Part 1)




เจ้าหญิงแช่แข็ง!



          ด้วยความเป็นติ่งละครบรอดเวย์เล็กๆ (และความเป็นติ่ง Wicked ใหญ่ๆ) ผมตามข่าวอนิเมชั่นเรื่องนี้ตั้งแต่งาน D23 Expo ที่ Idina Menzel ไปร้องเพลง Let it Go ครั้งแรก (จิ้มดู clip นะฮะว์) อันที่จริงจะเรียกว่าตามข่าวก็ไม่ถูกนัก ออกแนวตั้งตารอด้วยใจระทึกมากกว่า เพื่อนกลุ่มที่ดูหนังกับผมบ่อยๆทุกคนถูกผมรบเร้า ชวนไปดูหนังเรื่องนี้ล่วงหน้าตั้งนานกันคนละตั้งสองสามรอบ ถ้าไม่เอือมก็คงขำ ก็ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบการ์ตูนดิสนี่ย์นี่!

          ต้องยอมรับว่าหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ ผมเดินออกจากโรงในอากัปกิริยาอันงุนงง ด้วยความที่คิดว่ามันต้องมีเค้าโครงมาจากเทพนิยายบางเรื่องซึ่งอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่ในที่สุดก็กลับหาความคุ้นเคยใดๆจากหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลย! ความสงสัยเป็นเหตุ ผมกับเพื่อนๆที่ไปด้วยกันเปิดหาที่มาของหนังเรื่องนี้กันอย่างจริงจังโดยไม่รอช้า

          Closing Credits ของหนังเรื่องนี้ระบุไว้ว่าดิสนี่ย์ผลิตอนิเมชั่นความยาวหนึ่งชั่วโมงครึ่งนี้ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายเรื่อง The Snow Queen (Danish : Snedronningen) ของ Hans Christian Andersen 

         นิทานต้นฉบับเล่าถึงหญิงสาวที่ไปช่วยชายหนุ่มคนรักที่กำลังหลงผิดจากราชินีหิมะใจร้าย ตอนจบของนิทานเรื่องนี้ประกอบไปด้วยน้ำตา, การหายไปของราชินีหิมะ และคำสอนทางศาสนา แต่ราชินีหิมะของดิสนี่ย์ดันเป็นเรื่องของเจ้าหญิง (มีคู่หมั้นแล้ว) ที่ต้องออกไปตามหาราชินีหิมะผู้โดดเดี่ยวซึ่งเป็นพี่สาวของเธอเอง โดยมีหนุ่มชาวเขา (คำนี้แหละ อ่านถูกแล้ว!) ติดสอยห้อยตามไปด้วยเพื่อแลกกับแครอทและอุปกรณ์ปีนเขาชุดใหม่  ซึ่งยิ่งทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วมันเหมือนกันตรงไหนเนี่ย!?

"พี่คะ กลับบ้านกันเถาะว์ๆๆ TT [] TT"
Princess Anna


          น้อยไปสิ! การตัดต่อพันธุกรรมเทพนิยายดั้งเดิมอย่างเดียวยังน้อยเกินไปสำหรับ Frozen! นอกจากการหักมุมแบบแฝงคติสอนใจซอฟต์ๆตรงกลางเรื่องและท้ายเรื่อง (เดี๋ยวค่อยพูดถึง เรื่องนี้ยาวแน่ๆ) การ์ตูนดิสนี่ย์เรื่องนี้ยังพาเจ้าหญิงสองคน (คนนึงกลายเป็นราชินีตั้งแต่ต้นเรื่องเชียวนะ แนวไหม?) แหวกกรอบไปไกลเท่าที่เจ้าหญิงดิสนี่ย์สองคนในเรื่องเดียวจะพากันไปได้

          XX ถึงจะบอกว่าใครๆก็ดูการ์ตูนดิสนี่ย์ได้ ก็คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าการ์ตูนดิสนี่ย์ที่ผ่านมามี target audience คือเด็กผู้หญิง (และเด็กผู้หญิง at heart <3 ) จากการที่ใช้ตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงเป็นคนเล่าเรื่องแทบจะทั้งนั้น และเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่ายและตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความซับซ้อน 

           ถ้าจะเปรียบเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนี่ย์คลาสสิคอย่างซินเดอเรลล่า หรือออโรร่า (Sleeping Beauty) เป็นเจ้าหญิงสำเร็จรูปที่เฝ้ารอให้เจ้าชายรูปงามมาถึง พลางก็ฝันหวานถึงความรักนิรันดร์ เจ้าหญิงอย่าง Anna และ Elsa ก็เป็นเจ้าหญิงกึ่งสำเร็จรูป ที่เข้า rank กับตะละแม่คลาสสิคทั้งหลายแค่รูปโฉม (ถ้าไม่นับที่เป็นสามมิตินะ!) กับสถานะทางสังคมเท่านั้น แต่กลับแตกต่างจากพวกเธอมากด้วยความคิดและการกระทำ

           สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือเรื่องนี้ไม่มีตัวร้ายที่ก่อเหตุ (สปอยเลอร์ ->) มีแต่ตัวฉวยโอกาส ในที่นี้คือเจ้าชายฮานส์ จึงไม่ใช่เรื่องสไตล์คนดี versus คนชั่วเหมือนที่ดิสนี่ย์ทำเป็นจนสรณะซึ่งมักจะให้ตัวร้ายเป็นผู้สร้างสถานการณ์ และตัวเอกเป็นคนเล่นตามเกมเท่านั้น เหมือนในเรื่อง Little Mermaid ที่ให้แม่มดหมึก Ursula เป็นคนสร้างสถานการณ์ ในทางกลับกัน สิ่งที่ผลักให้เรื่องนี้เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆคือความพยายามในการค้นหาตัวเองและการฝ่าอุปสรรคต่างๆของตัวเอกมากกว่า โดยตัวร้ายในเรื่องนี้เหมือนกับมีไว้เพื่อให้สามารถปิดคดีได้ตามสไตล์ของดิสนี่ย์เท่านั้นเอง

No comments:

Post a Comment